รู้จักกับอาเซียน+3 ก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

  รูปภาพ  “อาเซียน+3” (Asean+3 Summit) หรือ อาเซียนพลัสทรี เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งสิบประเทศ รวมกับอีก 3 ประเทศนอกอาเซียน ได้แก่ ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งทั้งสามประเทศนี้อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และนับเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในระดับโลกเลยทีเดียว

          ทั้งนี้ “อาเซียน+3” ยกระดับความร่วมมือขึ้นในปี พ.ศ. 2540 หลังจากหลายประเทศในเอเชียเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า “ต้มยำกุ้งดีซีส” ในช่วงกลางปี ครั้งนั้น ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้เข้าร่วมพบปะหารือกับผู้นำของประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหาแนวทางรับมือกับภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น รวมถึงการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออก 

          นับแต่นั้นมา ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่จัดขึ้นทุกครั้ง ผู้นำของทั้ง 10 ชาติสมาชิกอาเซียนก็จะเข้าร่วมประชุมกับผู้นำของประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ด้วย โดยใช้ชื่อว่า “การประชุมสุดยอดอาเซียน+3” ซึ่งในการประชุมครั้งที่ 2 ได้มีการหารือกันถึง 2 ประเด็นหลัก คือ 

          1. ความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค

          2. ความร่วมมือสู่ศตวรรษที่ 21 ในการรักษาส่งเสริมสันติภาพ และความมั่นคง ความมีเสถียรภาพและการพัฒนา 

          กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นภายหลังจากการออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเอเชียตะวันออก (Joint Statement on East Asia Cooperation) และการจัดตั้ง East Asian Vision Group (EAVG) ในปี พ.ศ. 2542 ซึ่ง EVAG นี้ประกอบไปด้วยนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศอาเซียน+3 ซึ่งจะร่วมกันระดมความคิดและแสวงหาวิธีการขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก 

          ต่อมา EVAG ได้เสนอแนวความคิดในการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก (East Asian community-EAC) รวมถึงการจัดการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit-EAS) ด้วย และในการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ครั้งที่ 9 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อปี พ.ศ. 2548 ผู้นำก็ได้ลงนามในปฏิญญากัวลาลัมเปอร์กำหนดให้การจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกเป็นเป้าหมายระยะยาว และให้กรอบอาเซียน+3 เป็นกลไกหลักในการนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวด้วย

วัตถุประสงค์ของกรอบความร่วมมืออาเซียน+3

          การรวมกลุ่มอาเซียน+3 เป็นการนำไปสู่การจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออก โดยชาติสมาชิกจะร่วมมือและสนับสนุนกันในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างเขตความร่วมมือทางความมั่นคง และการเมืองที่ไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ ความร่วมมือต่าง ๆ จะอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือสำคัญ 6 ด้านที่เร่งผลักดัน คือ

          1. การร่วมกันกำหนดกฎระเบียบในภูมิภาค  

          2. การตั้งเขตการค้าเสรี      

          3. ข้อตกลงความร่วมมือทางการเงินและการคลัง 

          4. เขตความร่วมมือและมิตรภาพเพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมอาวุธ  

          5. การคมนาคมและเครือข่ายการสื่อสาร 

          6. ด้านสิทธิมนุษยชนและพันธะกรณีต่าง ๆ  

          สำหรับกรอบความร่วมมือต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดประชาคมเอเชียตะวันออกได้อย่างแท้จริง แต่ถึงกระนั้น แต่ละประเทศก็ต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอย่างเร่งด่วนเสียก่อน เช่น ปัญหาดินแดนทับซ้อน ที่ยังเป็นอุปสรรคในการสร้างประชาคมเอเชียตะวันออก

ความสำคัญของอาเซียน+3 ต่อประเทศไทย

          อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ถือเป็นประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจในทวีปเอเชีย และมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก ดังนั้น การที่อาเซียนสามารถดึงให้ทั้ง 3 ประเทศ เข้ามาร่วมในกรอบความร่วมมือของอาเซียนได้ จึงทำให้เกิดความร่วมมือในด้านต่าง ๆ มากขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก รวมทั้งประเทศไทยที่มีการประเมินว่า ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์จากความร่วมมือในกรอบของเขตการค้าเสรีอาเซียนบวก+3 (FTA Asian +3) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 7,943 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

          เชื่อได้ว่า ในอนาคต อาเซียน+3 จะเป็นการร่วมตัวที่มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับโลก เพราะสัดส่วนของประชากรทั้ง 13 ชาติ คิดเป็นหนึ่งในสามของประชากรโลก และมียอดเงินสำรองต่างประเทศรวมกันมากกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสำรองโลก นอกจากนี้ หากรวมผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เข้าด้วยกัน จะทำให้มีมูลค่าถึง 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 16 ของจีดีพีโลกเลยทีเดียว ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมตอนนี้โลกกำลังจับตามองการรวมกลุ่มของชาติต่าง ๆ ในเอเชียมากเป็นพิเศษ 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
aseansec.org 
aseanpeople.weebly.com 
asean.jsforeign.com 
prd.go.th

ใส่ความเห็น